การขจัดน้ำมันหล่อลื่นที่หมดอายุใช้งาน
น้ำมัน หล่อ ลื่นที่ใช้งานไปจนหมดสภาพไม่เหมาะที่จะใช้งานนั้นๆ ต่อไป โดยปกติผู้ใช้มักจะเททิ้งตามพื้นดินหรือไม่ก็ขายให้กับผู้รับซื้อในราคาถูกๆ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียคือ การเททิ้งตามพื้นดินจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะซึ่งจะแก้ไขกำจัดในภายหลัง ได้ยาก การขายให้ผู้รับซื้อซึ่งมักจะเอาไปทำน้ำมันปลอมซึ่งอาจจะกลับมาสู่เรา ทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรได้ ดังนั้น จึงควรหาประโยชน์จากน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วโดยมีแนวทางดังนี้
- ใช้น้ำมันที่ใช้แล้วจากงานหนึ่งไปหล่อลื่นในงานที่ไม่รุนแรง (งานอุณหภูมิปกติ ภาระน้ำหนักต่ำ รอบไม่สูง ) เช่น
๐ น้ำมันหล่อลื่นเทอร์ไบน์หรือไฮดรอลิคหรือน้ำมันเกียร์ เมื่อใช้จนถึงอายุแล้วสามารถนำมากรองแล้วใช้หล่อลื่นพวกแบริ่งกาบและแบริ่ง ลูกปืนที่ต้องการน้ำมันหนืดเบอร์เดียวกัน และใช้ระบบหล่อลื่นแบบหยอดทิ้งได้ - ใช้น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วจากเครื่องจักรต่างๆ ไปใช้ในงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการหล่อลื่น เช่น ใช้ทาไม้แบบสำหรับคอนกรีต ใช้ทาไม้ป้องกันปลวก มอด และ แมลง ใช้ใส่ขาตู้กับข้าวเพื่อป้องกันมดขึ้นได้
- ใช้น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมาผสมกับเชื้อเพลิง ใช้เผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงได้โดย
๐ ในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาหรือหม้อไอน้ำ ก็สามารถใช้ผสมน้ำมันเตาได้ในอัตราส่วนมี่ไม่เกิน 25% โดยต้องมีถังตกตะกอนที่มีฝาปิดมิดชิด สามารถถ่ายเอาตะกอนสกปรกออกจากถังได้ การตกตะกอนต้องทำอย่างน้อยสัก 2 วัน ถังตกตะกอนดังกล่าวอาจใช้เป็นถังเก็บสะสมน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วที่ถ่ายมาที ละไม่มากจนได้ปริมาณมากพอ จึงนำไปผสมลงในน้ำมันเตา ท่อดูดน้ำมันออกจากถังตะกอนต้องอยู่เหนือพื้นถังไม่น้อยกว่า 10 ซม. และควรมีหม้อกรองขนาด 60 – 80 Mesh ก่อนเข้าปั้มเพื่อส่งเข้าถังน้ำมันเตา
๐ น้ำมันเครื่องยนต์ดีเซลที่หมดอายุใช้งานแล้ว สามารถนำมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้ในอัตราส่วนไม่เกิน 5% โดยต้องกำจัดพวกเขม่า ตะกอน และน้ำออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน โดยอาจใช้ Centrifugal Separator การผสมน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลบางส่วนลงไปในน้ำมันเครื่องใช้แล้วจะทำให้การ แยกตะกอนและน้ำได้รวดเร็วและง่ายขึ้น เมื่อแยกสิ่งสกปรกและน้ำออกแล้วจึงนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลกวนให้ เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำไปใช้งาน ไม่แนะนำให้ใช้น้ำมันเครื่องเบนซินหรือน้ำมันเกียร์มาผสมน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องดีเซล หากไม่มี Centrifugal Separator อาจใช้ระบบง่ายๆ คือ
ระบบที่ประกอบด้วยถังพักขนาดราว 200 – 500 ลิตร ซึ่งบรรจุน้ำมันเครื่องใช้แล้วและน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล ในอัตราส่วนราว 1:1 น้ำมันผสมนี้จะถูกปั้มผ่านหม้อกรองขนาด 10 – 20 ไมครอน (อาจใช้หม้อกรองน้ำมันเครื่องได้) 3 ชุด เพื่อกรองเอาสิ่งสกปรกออกให้มากที่สุด แล้วไหลคืนสู่ถังพักปั้มหมุนเวียนจนกระทั่งน้ำมันไหลกลับมีสภาพที่สะอาด ในบางกรณีอาจต้องเปลี่ยนหม้อกรองน้ำมันเครื่องหากหม้อกรองเริ่มตัน โดยดูจากผลต่างระหว่างความดันตรงก่อนชุดหม้อกรองและหลังชุดหม้อกรองว่าเพิ่ม ขึ้นจากเดิมมาก และปริมาณน้ำมันไหลกลับถังพักช้าลงมาก เมื่อน้ำมันสะอาดดีแล้วจึงปั้มไปผสมเข้าในถังน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลโดยควบ คุมให้มีจำนวนน้ำมันเครื่องในเชื้อเพลิงไม่เกิน 5%
ข้อควรปฏิบัติในการป้องกัน เครื่องจักรกล ไม่ให้เกิดการเสียหาย
เครื่องจักรกลทุกชนิดประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่เคลื่อนไหว การเสียดสีของผิวโลหะย่อมก่อให้เกิดความร้อนและการสึกหรอ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นจึงมีบทบาทที่จะช่วยขจัดปัญหาเหล่านั้นได้
น้ำมันหล่อลื่นและจารบี
น้ำและ สิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น ทราย ถ้าเข้าไปปะปนกับน้ำมันหล่อลื่นจะทำให้คุณภาพของน้ำมันเสื่อมและการสึกหรอจะ เกิดขึ้น ดังนั้น ในการเก็บรักษา และการนำน้ำมันไปใช้ควรระมัดระวังมิให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเข้าไปได้ ภาชนะต่างๆ ที่ใช้ในการถ่ายเทควรจะเก็บไว้ในที่มิดชิดเช่นเดียวกัน
การล้างเครื่อง
การล้างภายในเครื่องควรจะทำเมื่อใช้งานแล้วในระยะหนึ่ง เพื่อจะได้ถ่ายเอาสิ่งสกปรกต่างๆซึ่งตกค้างอยู่ภายในโดยใช้เชลล์ฟลัชชิ่ง ออยล์
การทำความสะอาดส่วนอื่นๆ ที่จำเป็น ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรองอากาศและไส้กรองน้ำมันเครื่อง ควรจะได้รับการตรวจตราและล้างทำความสะอาด หรือเปลี่ยนตามความเหมาะสม
เครื่องยนต์
เมื่อเริ่มติดเครื่อง ควรให้เครื่องยนต์เดินเบาประมาณ 2-3 นาที เพื่อ Warm-up การหล่อลื่นจะได้ผลดีทั่วทุกส่วนของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่มีระบบเทอร์โบชาร์จ เนื่องจากเป็นระบบที่มีความเร็วสูงมาก
ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเติมเชื้อเพลิงให้เต็มถังเมื่อเสร็จงาน เพื่อป้องกัน Condensation นอกจากนี้ควรไขก๊อกถ่ายน้ำมันก้นถังเพื่อให้สิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น สนิม ฯลฯ ออกจากถังเสีย
น้ำมันหล่อลื่นเกียร์ ทอร์คคอนเวิร์ทเตอร์และเฟืองท้าย
เลือกใช้แต่ชนิดและเกรดที่เหมาะสม ถูกต้องตามผู้ผลิตเครื่องมือแนะนำ บันทึกกำหนดเวลาการใช้งาน เพื่อเตือนความจำในเรื่องการถ่ายเปลี่ยนหรือ Top-up ในระบบดังกล่าวจะมีช่อง Ventilation จึงต้องควรระวังเมื่อเครื่องจักรกลทำงานอยู่ในที่ลุ่ม โอกาสที่น้ำจะเข้าไปในระบบเกียร์ทำให้น้ำมันเสื่อมได้
ระบบไฮดรอลิค
ชนิด เกรด น้ำมันเป็นหัวใจของระบบไฮดรอลิค ส่วนประกอบ เช่น ยางกันฝุ่น ฝาถัง ควรระวังเรื่องฝุ่นและน้ำ คอยหมั่นตรวจสภาพของน้ำมันว่า ขุ่น สีผิดจากเดิม มีกลิ่น “บูด” หรือ”ไหม้” ควรเปลี่ยนเมื่อจำเป็น
จารบีสำหรับลูกปืน
ในการเติมจารบีในลูกปืน ถ้าไม่แน่ใจว่าของเก่าเป็นจารบีชนิดใด ควรล้างออก เป่าให้แห้งเติมใหม่ อย่าให้เต็มเกิน (3/4)
ข้อแนะนำในการหล่อลื่น
- การหล่อลื่นควรจะได้กระทำโดยผู้ที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ และควรทำเป็นประจำอยู่เสมอ ระยะการเติม การถ่าย เปลี่ยน หล่อลื่น ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานของเครื่อง และควรจะต้องปฏิบัติตามที่ผู้ผลิตเครื่องได้แนะนำไว้
- ก่อนที่จะใช้หล่อลื่นแต่ละครั้ง ควรตรวจสอบให้แน่ว่าน้ำมันหรือจารบีที่จะใช้นั้นเป็นชนิดที่ถูกต้อง
- ระยะเวลาที่จะเติมหล่อลื่น ควรให้ถูกต้องสม่ำเสมอ ทั้งนี้แล้วแต่กรณีบางทีเดือนละครั้งอาจจะมากเกินไปและบางทีวันละครั้งอาจจะ น้อยเกินไปก็ได้
- ปริมาณของน้ำมันและจารบีที่ใช้ควรเติมให้พอดี ถ้ามากเกินไปอาจจะทำความเสียหายได้เท่าๆกับเติมน้อยเกินไป
- เก็บน้ำมันหล่อลื่นและจารบีไว้ในที่สะอาด ให้ถังและภาชนะสะอาดอยู่เสมอและต้องมีเครื่องหมายแสดงชนิดและเกรดไว้ชัดเจน ด้วย เพื่อป้องกันการผิดพลาดเมื่อนำไปใช้
- บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณหล่อลื่นแต่ละเกรดที่ใช้ตลอดจนการซ่อมแซม และข้อความอื่นๆ ที่สำคัญไว้ทุกครั้ง แล้วนำมาศึกษาดูเพื่อที่จะได้หาทางปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่การเสียหายจะเกิดขึ้น
การเสื่อมสภาพของน้ำมันหล่อลื่น
น้ำมัน หล่อลื่นที่ใช้กันในปัจจุบัน นี้ส่วนมากเป็นพวกน้ำมันแร่ (Mineral Oil) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมันดิบ พวกที่เป็นน้ำมันสังเคราะห์ (Synthetic Oil) ก็มีใช้อยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยและใช้ในงานพิเศษๆ เท่านั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นชนิดน้ำมันแร่เท่านั้น
น้ำมันหล่อลื่นแต่ละชนิดได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้มีคุณสมบัติและคุณภาพเหมาะ สมสำหรับงานหล่อลื่นแต่ละประเภท โดยการนำเอาน้ำมันพื้นฐานที่มีความหนืดพอเหมาะมาปรับปรุงคุณภาพด้วยการเติม สารเคมีเพิ่มคุณภาพ เพื่อให้คุณสมบัติพิเศษตามความต้องการ เช่น คุณสมบัติในการชะล้างป้องกันฟอง หรือรับแรงกด เป็นต้น เมื่อถูกใช้งานคุณสมบัติและคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นต้องสูญเสียหรือเสื่อม ถอยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานอีกต่อไป ลักษณะการเสื่อมสภาพของน้ำมันหล่อลื่นสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
- การเสื่อมสภาพของตัวเนื้อน้ำมันที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาอ็อคซิเดชั่น
- สารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันถูกใช้หมดไป หรือเสื่อมสภาพไป
- มีสิ่งสกปรกหรือสารอื่นจากภายนอกเข้าไปปะปน
การเสื่อมสภาพของตัวเนื้อน้ำมันที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาอ็อคซิเดชั่น
ปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นถ้าอุณหภูมิใช้งานสูงขึ้น ผลก็คือน้ำมันจะเปลี่ยนสภาพและเกิดความเป็นกรดขึ้น ความหนืดของน้ำมันก็มักจะสูงขึ้นด้วย ถ้าปล่อยให้ความเป็นกรดสูงมากๆ จะทำให้เนื้อน้ำมันเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้น ผลก็คือเกิดมีพวกยางเหนียวและวานิชเกาะอยู่ตามร่องรูทางผ่านของน้ำมันหล่อ ลื่น และในที่สุดอาจจะเกิดการกัดกร่อนเนื้อโลหะในเครื่องจักรกลได้ ในน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ น้ำมันไฮดรอลิค น้ำมันเทอร์ไบน์ และน้ำมันเครื่องอัดอากาศกำลังสูง ได้มีการใส่ตัวเพิ่มคุณภาพเพื่อป้องกันปฏิกิริยานี้อยู่แล้ว หากตัวเดิมนี้ถูกใช้หมดไปหรือเสื่อมสภาพไป น้ำมันอาจเกิดปฏิกิริยากับอากาศได้ที่อุณหภูมิสูงๆ
สารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันถูกใช้หมดไป หรือเสื่อมสภาพไป
สารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันหล่อลื่นมีมากมายหลายชนิด สารเหล่านี้ช่วยให้น้ำมันหล่อลื่นมีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น และเหมาะสมในสภาพการใช้งานแต่สารเหล่านี้อาจถูกใช้หมดไปได้โดยเปลี่ยนสภาพไป เป็นสารอื่นที่ไม่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติอีกต่อไป ทำให้น้ำมันมีสภาพที่ไม่เพียงพอที่จะทำงานได้ดีต่อไปได้
สารอื่นหรือสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปปะปน
สารอื่นจากภายนอก เช่น น้ำ ฝุ่นผง เขม่า และอื่นๆ เมื่อเข้าไปปะปนกับน้ำมันหล่อลื่นแล้วอาจทำให้น้ำมันหล่อลื่นเสื่อมคุณภาพ ได้ เช่น น้ำเมื่อไปปะปนกับน้ำมัน ถ้าถูกตีปั่นกับน้ำมันจะทำให้น้ำมันเกิดขุ่นขาวเพราะมีอนุภาคของน้ำแทรกอยู่ ทั่วไปในเนื้อน้ำมัน ทำให้ความหนืดเปลี่ยนไป และไม่เหมาะที่จะใช้งานอีกต่อไป ในน้ำมันเทอร์ไบน์ได้มีการเติมสารเพิ่มคุณภาพเพื่อทำให้น้ำแยกตัวออกมาตก อยู่ในก้นอ่างน้ำมันเพื่อที่จะได้ถ่ายทิ้งได้ ฝุ่นผงและเขม่า โดยเฉพาะพวกที่เป็นเศษโลหะถ้าเข้ามาปะปนอยู่กับน้ำมันหล่อลื่นเป็นจำนวนมาก แล้วจะไปขัดสีกับผิวโลหะของเครื่องจักรกล ทำให้เกิดรอยขีดข่วนและสึกหรอได้ นอกจากนั้นยังทำให้ความหนืดของน้ำมันสูงขึ้นด้วย พวกน้ำมันเชื้อเพลิงถ้าเล็ดลอดไปปะปนกับน้ำมันหล่อลื่นจะทำให้น้ำมันหล่อ ลื่นมีความหนืดลดลงไปมาก ไม่เหมาะกับการใช้งานอีกต่อไป ดังนั้นการระวังมิให้สิ่งอื่นภายนอกเข้าไปปะปนกับน้ำมันหล่อลื่นจึงเป็นสิ่ง สำคัญยิ่ง ถึงแม้จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นต่างชนิดกันก็ไม่ควรจะนำมาผสมกัน เพราะอาจทำให้คุณภาพของน้ำมันเสื่อมลงได้ ตัวอย่างเช่น พวกน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์จำนวนเล็กน้อยปะปนลงในน้ำมันเทอร์ไบน์ อาจทำให้คุณภาพในการป้องกันสนิมของน้ำมันเทอร์ไบน์เสียไป เนื่องจากสารเพิ่มคุณภาพในน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์อาจทำปฏิกิริยากับสาร ช่วยป้องกันสนิมในน้ำมันเทอร์ไบน์ทำให้สารช่วยป้องกันสนิมแปรสภาพไป
ขอบคุณที่มา: http://www.sgl1.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=287421
picture credit: http://www.srithepthailubricants.com/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2/145